วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เพิ่มดีไซน์ให้สวนครัว

เพิ่มดีไซน์ให้สวนครัว


"คอนเซ็ปต์ก็เหมือนสวนสวยงามทั่วไป แต่ว่าเราใช้พวกพืชผักสวนครัวมาแทนให้ได้ประโยชน์เพิ่ม เอามากินได้ด้วย หลักการจัดก็เหมือนสวนธรรมดาน่ะ ดูเรื่องมุมมอง มีจังหวะการจัดวางต้นไม้ จริง ๆ แล้วก็ยากกว่าด้วย เพราะมีต้นไม้ให้เลือกใช้น้อย…"

"…สีสันก็อาจจะไม่ฉูดฉาดเหมือนสวนไม้ประดับที่มีต้นไม้ให้เลือกใช้มาก" คือข้อจำกัดของสวนครัวในบ้านที่ไม่อาจตอบสนองในด้านภาพที่เห็นให้กับผู้เป็นเจ้าของได้เต็มร้อย แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ข้อจำกัดนี้ก็อาจกลายมาเป็นข้อดีขึ้นมา ในฐานะที่ช่วยลดตัวเลือกในการหาต้นไม้มาจัดสวนของเจ้าของบ้าน เพื่อจะได้เอาเวลานั้นไปหาของอย่างอื่นมาช่วยแต่งสวนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ในสวน หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จะช่วยให้สวนมีชีวิตชีวาขึ้น

"พืชสวนครัวที่เราเลือกมาใช้ เราก็อาจแทนค่าเป็นไม้ประดับได้ อย่างเฮลิโคเนียก็ใช้พวกขิงข่าแทน กล้วยบัวก็เป็นกล้วยน้ำว้า เฟิร์นก็เป็นผักชีฝรั่ง จริง ๆ แล้วการจัดสวนครัวในรูปแบบสวนประดับนี่มันมีข้อดีด้วยนะ อย่างพวกแมลงที่มาทำลายจะน้อยกว่าสวนผัก ที่เป็นแปลง ๆ เพราะเราปลูกผสมผสานหลายอย่าง แมลงที่มาก็จะหลง แมลงชนิดหนึ่งจะมีพืชที่กินได้กลุ่มหนึ่ง พอกินต้นนี้อยู่ แล้วเลยไปเจออีกชนิดหนึ่ง ก็จะหลงแล้ว นึกว่าหมดแล้ว ก็จะบินไปหาแหล่งใหม่ ไม่ควรใช้สารเคมีเลยนะครับ สวนครัวในบ้านแบบนี้ ถ้าเห็นแมลงมาเกาะก็ให้เด็ดทิ้งไป"

การจัดสวนครัวอย่างนี้ แม้จะปลูกผสมด้วยพืชผักหลายชนิด แต่ก็จะไม่ปลูกรวมกัน จะปลูกเป็นกลุ่ม พืชสวนครัวแต่ละชนิดมีอายุไม่เท่ากัน เวลาเราเปลี่ยน เราก็จะเปลี่ยนได้ง่าย ถ้าจะให้สวยนาน ก็ต้องเลือกต้นที่ไม่ใช่ว่าเด็ดไปแล้วใบจะหายไปเลย ต้องเลือกที่ยังมีใบทีพอให้ภาพสวนไม่เปลี่ยน เช่น กะเพรา โหระพา ตะไคร้ ส่วนพวกที่ตัดแล้วใบหาย เช่น คะน้า ผักบุ้ง ก็อาจปลูกแซม ๆ ไว้ หรือถ้ามีที่ว่างก็ให้ทำเป็นแปลงไปเลย

เป็นอีกสองข้อจำกัด แต่ก็เป็นเหมือนหลักการที่ช่วยกำหนดรูปแบบการจัดไปด้วย จะได้ไม่ต้องพบกับปัญหาภายหลัง ซึ่งเรื่องปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องแสงแดด ที่ต้องไม่ร่มเกิน และก็ไม่ควรจะมากไป สวนครัวต้องการแดดค่อนข้างมาก แต่ผมว่าแสงสักครึ่งวันนี่กำลังดี จะเช้าหรือบ่ายก็ได้ ดีกว่าเต็มวันด้วยซ้ำไป ถ้าแดดเต็มวัน ตัวเนื้อผักจะแข็งแห้งเกินไป ไม่ค่อยอวบน้ำ ถ้าครึ่งวันนี่จะอวบกว่า จะกรอบกว่า

น้ำมาก แต่ไม่แฉะ ไม่ขัง คือปริมาณที่พืชผักสวนครัวชอบ รดน้ำ 1 ครั้งถ้าแดดไม่จัด หรือ 2 ครั้งถ้าวันนั้นแดดจัด ส่วนเรื่องการดูแลตัดแต่งนั้นง่ายและทำเหมือนไม่ได้ทำ

การเด็ดไปใช้ การเด็ดไปกิน ก็เหมือนเป็นการตัดแต่ง เราใช้บ่อย ๆ ก็เป็นการดูแลไปในตัว แต่ก็ต้องเลือกใช้ให้กระจายอย่างสม่ำเสมอทั่วพื้นที่ ส่วนปุ๋ยก็ให้ใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก สลับกับปุ๋ยเคมีบ้าง ตัวโครงสร้างดินไม่เสียหายอะไร




ที่มา:บ้านและสวน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น